ข้อมูลทั่วไป » สภาพของชุมชน

สภาพของชุมชน

17 กุมภาพันธ์ 2019
303   0

ประวัติอำเภอลอง

เมืองลองเป็นเมืองเล็ก  แต่เป็นเมืองที่ตั้งมานานนับพันปี  ตามตำนานกล่าวว่าสร้างมาก่อน

พุทธกาล  แต่สมัยกระโน้นชนชาติใดปกครองไม่ทราบจับเอาสมัยหลังพุทธกาล  สมัยนั้นเจ้าของถิ่นเป็นชาติละว้า

( ลัวะ ) เดี๋ยวนี้ชนชาติละว้าจะเหลือยู่บ้าง เช่น ทางจังหวัดเชียงใหม่  แต่ก็มีจำนวนน้อย  ซึ่งเป็นอนุสรณ์ให้เรารำลึกถึงชนชาตินี้ก็คือ  “ถุงลัวะ”  ( ย่ามละว้า )  ที่พวกเราชาวชนบทชอบใส่ของสมัยนั้น  ชาติละว้ามีอำนาจมากเกือบทั่วแหลมทอง   ชาติละว้าปกครองมาจนถึงพุทธศักราช  1400  ก็แพ้ขอม  ชาติขอมเรืองอำนาจ  ราว พ.ศ.  1661 เมืองลองตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดแพร่  เป็นอำเภอที่ขึ้นอยู่ในการปกครองกับจังหวัดแพร่  ก่อน  พ.ศ. 2474  อำเภอลองขึ้นอยู่ในความปกครองจังหวัดลำปางแห่งโยนกประเทศ  ซึ่งมีเมืองเงินยางเป็นนคร  แต่เมืองลองเป็นเมืองเล็ก  ฉะนั้นจึงอยู่ในความปกครองของนครลำปาง   เพียงแต่มีเจ้ารักษาอาณานิคมเท่านั้น  เมืองลองมีเนื้อที่กว้างขวางเป็นอำเภอที่ยาวที่สุดของจังหวัดแพร่      มีเนื้อที่มากกว่าอำเภออื่น ๆ ของจังหวัดแพร่รวมกัน    เป็นอำเภอที่มีวัตถุดิบมาก  ครั้งอดีตเมืองลองเป็นเมืองชายแดน  ในครั้งกระโน้นเป็นเมืองที่รับเคราะห์และโชค  หมายความว่า    สมัยใดโยนกล้านนามีพระเจ้าแผ่นดินที่เชี่ยวชาญการรณรงค์สงคราม    สมัยนั้นเมืองลองก็สงบสุข     สมัยที่โยนกล้านนาหย่อนสมรรถภาพ  สมัยนั้นเมืองลองก็ได้รับเคราะห์   เพราะถูกทางสุโขทัยเข้ายึด      เมืองลองนี้  ทางล้านนาหวงแหนมาก  เช่นเดียวกันทางสุโขทัยและอยุธยายกทัพมาตีนครลำปาง  แต่แพ้  นครลำปางจึงได้เมืองลอง  เมืองเถิน  แต่ได้ไม่นาน  ล้านนาก็กลับมาตีคืนอีก เมื่อทางล้านนายกทัพไปตีสุโขทัยหรืออยุธยาคราวใด  ก็มักเอาเมืองลองเป็นฐานทัพเมืองลองจึงเป็นหนังหน้าไฟ     เพราะเป็นเมืองหน้าด่าน       ผู้ที่จะมาครอบครองเมืองลองจึงต้องเลือกเอาคนที่สำคัญที่สุด  เช่น  หมื่นด้งนคร   ซึ่งพระเจ้าติโลกราชทรงยกย่องว่า  เป็นแม่ทัพที่เข้มแข็งที่สุดของล้านนาทรงส่งให้มารักษาเมืองลอง    เมื่อปี    พ.ศ. 2036  หมื่นด้งนครรักษาเมืองอยู่  พระบรมไตรโลกนาถไม่ทรงกล้ายกทัพตี        ขณะที่หมื่นด้งนครครองเมืองลองอยู่      ก็ปรากฏว่าไปพนันชนไก่กับเจ้าเมืองชะเลียงไก่ของหมื่นด้งชนะจึงได้เมืองด้ง  (หาดเสี้ยว) ปัจจุบันมาเป็นเมืองขึ้น เหตุดังนี้  ผู้ที่มาครองเมืองลองจึงถูกส่งมาจากที่ต่าง ๆ เลือกเอาแต่ผู้ที่มีความสามารถจริง ๆ  เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ครองเมืองจึงไม่อยู่ในระดับเดียวกัน  บางครั้งส่งมาจากที่อื่น  เช่น  นครลำปาง  แจ้ห่ม บางครั้งคนสุโขทัยก็มี  ขึ้นชื่อว่าเหล็กลองแล้ว  ชาวล้านนาทั่วไปย่อมรู้จัก และเอาไปทำดาบใช้ในสงคราม  ถ้าอยากจะทราบให้ไปสืบถามชาวตำบลหัวทุ่ง( บ้านนาตุ้ม )  จะทราบได้ว่า ผู้เฒ่าผู้แก่บางคนมาจากนครเชียงใหม่ก็มี       สมัยนั้นมักจะมีการจับข้าทาสมาบวงสรวงผี เพื่อเอาแร่เหล็กไปทำดาบ ไม่เฉพาะแร่เหล็กเท่านั้น  แร่อื่น ๆ   ก็มีหลายชนิด   เช่น  ตะกั่ว   ทองแดง  ทองคำ  พลอย  พลวง  ฯลฯ ทางด้านปูชนียวัตถุ  สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ก็มีมากเป็นของเก่าแก่นับพันปี  เช่น  พระธาตุขวยปู    แหลมลี่  ศรีดอนคำ ( ห้วยอ้อ ) สำหรับพระธาตุที่ศักดิ์สิทธิ์และแสดงปาฏิหาริย์เสมอ  เมื่อก่อน    พ.ศ. 2474         มักแสดงปาฏิหาริย์แม้แต่กลางวัน      ซึ่งเราจะทราบจากการบอกเล่าของชาวบ้านรุ่นเก่าได้

เมืองลองในสมัยพวกละว้าปกครอง ไม่เรียกชื่อว่าเมืองลอง  แต่เรียกว่า  เมือง “กุกุฏไก่เอิก”

ตามพงศวดารแหลมลี่กล่าวว่า     เมื่อสมัยพุทธเจ้ามีพระชนม์    65     พรรษา    เสด็จมาเมืองลองพร้อมอรหันต์  ถ้าพระองค์มาจริงตามพงศาวดารแหลมลี่แล้ว     ก็ตกอยู่ราวก่อนพุทธศักราช  15  ปี  แต่เมืองลองมิใช่ว่าจะตั้งมาเพียงก่อนพุทธศักราช  15  ปีเท่านั้น     ความจริงเมืองลองก็ตั้งมาก่อนพุทธราช  ไม่น้อยกว่า 2000 ปี โดยนัยเดียวกัน ชาติละว้าตั้งมานานเท่าไรเมืองลองก็ตั้งมานานเท่านั้น  ในพงศาวดารแหลมลี่     พระองค์ตรัสอดีตนิทานว่า    สมัยพระองค์เป็นปูทอง ตรัสให้ชื่อเมืองนี้ว่า  เมืองกุกุฏไก่เอิก ( เมืองไก่ขัน )  เช่นเดียวกัน    ราวพุทธศักราช   1078  พระนางจามเทวีพระราชธิดาของกษัตริย์ผู้ครองเมืองละโว้     ซึ่งเป็นมเหสีของพระยารามรามัญ   ผู้ครองเมืองโยฌิยา ( เมืองรามบุรี ) ได้เสด็จมาครองเมืองลำพูน  ได้เสด็จมาทางชลมารค ได้หลงทางถึงวัดศรีดอนคำเวลาที่มานั้น   พระราชธิดาได้มอบพรระบรมสาริกธาตุ   พระอุระของพระพุทธเจ้า      ประทานให้แก่พระนางจามเทวีซึ่งพระนางจะเสด็จมาครองเมืองหริภุญชัย  และได้นำมาบรรจุไว้ที่พระธาตุศรีดอนคำดังตำนานกล่าวไว้  โดยเหตุที่หลงทางมาเกิดความสงสัยในทางเดินว่าพระนางเดินทางผิดทางหรือหลงทาง จึงขนานนามเมืองนี้ว่าเมือง“เววาภาสิต ” ( การกล่าวถกเถียงกันในการเดินทางผิด )  ครั้งนั้น พระนางเสด็จทางผิดไม่เป็นที่ตกลงกันเช่นนั้น  จึงตรัสว่า “ ลองขึ้นไปก่อนเถอะ ” เหตุดังนั้นจึงเรียกว่าเมืองลอง

การเรียกชื่อเมืองลองนี้      ภายหลังแต่พระนางจามเทวีเสด็จราว   1   ศตวรรษ   ประมาณพุทธศักราช  1178  แต่นั้นมาอีกราว  6  ศตวรรษกว่า ๆประมาณพุทธศักราช  1824  พระเจ้าเม็งรายมหาราชผู้ครองเมืองเชียงราย       รบชนะพระยายีบา   เมืองหริภุญชัยและปราบปรามเมืองเล็กเมืองน้อยและรบชนะพระยาเบิก  เมืองนครลำปาง  ในพุทธศักราช  1839  ซึ่งพระยายาบีและพระยาเบิกเมือง   หนีมาพึ่งพิษณุโลก  แต่นั้นมาพระเจ้าเม็งรายขนานนามเมืองลองว่า( เมืองเชียงชื่น ) โดยเหตุที่ว่ามีแร่เหล็กและแร่ตะกั่วมาก ( แร่ชืนคือจีน )  เดิมอำเภอลองขึ้นอยู่กลับ  จังหวัดลำปาง  ต่อมาทางราชการได้โอนมาขึ้นกับจังหวัดแพร่  เมื่อวันที่  25  พฤศจิกายน  2474  ปัจจุบันตั้งอยู่บนถนนจรูญลองรัฐ     ตำบลห้วยอ้อ  มี ร.อ.อ. วิชิตชนบท วิบูลย์  ( ทัศ  สุขาเนนย์ ) เป็นนายอำเภอคนแรก

ลักษณะที่ตั้ง

อำเภอลอง  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดแพร่  ห่างจากจังหวัดแพร่ประมาณ  42กิโลเมตร และห่างจากจากรุงเทพมหานคร  620  กิโลเมตร  มีเนื้อที่ประมาณ  885,340.62  ไร่  หรือประมาณ  1,416  ตารางกิโลเมตร  มีอาณาเขตติดต่อกัน ดังนี้

ทิศเหนือ                 ติดต่อกับอำเภอสองจังหวัดแพร่

ทิศใต้                      ติดต่อกับอำเภอวังชิ้นจังหวัดแพร่

ทิศตะวันออก          ติดต่อกับอำเภอเด่นชัย  อำเภอสูงเม่น  อำเภอเมือง  จังหวัดแพร่

ทิศตะวันตก            ติดต่ออำเภอแม่ทะ และอำเภอแม่เมาะ  จังหวัดลำปาง

ลักษณะพื้นที่

ลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบ   10  %   เป็นภูเขาป่าไม้  90  %   ตั้งอยู่ในที่ราบหุบ

เขาอันเป็นแหล่งทรัพยากรอันมีค่า      เดิมอำเภอลองเป็นเมืองปิด  เพราะการคมนาคมติดต่อกับจังหวัด  หรือ อำเภออื่น ๆ เป็นไปด้วยความลำบาก

พื้นที่ทางการเกษตร

อำเภอลองมีพื้นที่การเกษตร  ประมาณ  90,608 ไร่ คิดเป็น  10.23  % ของพื้นที่ทั้งหมด

จำนวนประชากร

ปัจจุบัน อำเภอลอง มีประชากร   จำนวน  52,067 คน      แยกเป็น

 

อำเภอ/ตำบล ชาย หญิง รวม
อำเภอลอง 25,782 26,285 52,067
ตำบลห้วยอ้อ 2,374 2,688 5,062
ตำบลแม่ลานนา 3,223 3,335 6,558
ตำบลบ้านปิน 2,698 2,589 5,287
ตำบลต้าผามอก 2,319 2,331 4,650
เทศบาลตำบลปากกาง 2,020 2,097 4,117
เทศบาลตำบลแม่ปาน 1,486 1,474 2,960
เทศบาลตำบลเวียงต้า 3,232 3,192 6,424
องค์การบริหารส่วนตำบลหัวทุ่ง 2,821 2,902 5,723
องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งแล้ง 3,619 3,578 7,197
องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อเหล็กลอง 1,990 2,099 4,089

การคมนาคม

การคมนาคมมีเส้นทางติดต่อกับท้องที่อื่นสะดวกทุกด้าน  คือ

  1. ทางรถยนต์สายลอง – แพร่  ลาดยางตลอดสายระยะทาง  40  กิโลเมตร
  2. ทางรถยนต์สายลอง – วังชิ้น – เถิน ลาดยางตลอดระยะทาง 85  กิโลเมตร
  3. ทางรถยนต์สายลอง – เด่นชัย ลาดยางตลอดสายระยะทาง 63  กิโลเมตร
  4. ทางรถยนต์สายลอง – ลำปาง ลาดยางตลอดสายระยะทาง 63  กิโลเมตร
  5. ทางรถไฟผ่านสถานีบ้านปิน ห่างจากที่ว่าการอำเภอ  5  กิโลเมตร
  6. มีถนนลุกรังผ่านตำบลหมู่บ้านต่าง ๆ

 

สภาพภูมิอากาศ

ลักษณะอากาศของอำเภอลอง      เป็นแบบฝนเมืองร้อน       ฤดูร้อนจะเริ่มเดือนมีนาคม

ฤดูฝนจะเริ่มเดือนพฤษภาคม    ฤดูหนาวเริ่มในเดือนพฤศจิกายน  ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้    ซึ่งจะทำให้ฝนตกชุก  ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม และในเดือนพฤศจิกายน  ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ           ซึ่งจะนำอากาศหนาวเย็นจากประเทศจีนเข้ามาในประเทศไทย

 

 แหล่งน้ำธรรมชาติ

แหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อการเกษตรของอำเภอ  คือ แม่น้ำยม  โดยรับน้ำ

ในลำห้วยต่าง ๆ ของอำเภอไหลผ่าน  4  ตำบล  ใน 9 ตำบล  คือ ตำบลบ้านปิน  ตำบลห้วยอ้อ  ตำบลปากกาง  ตำบลทุ่งแล้ง

 

ทรัพยากรธรรมชาติ

อำเภอลองมีป่าที่อยู่ในเขตป่าสงวน  ดังนี้

  1. ป่าแม่ปง – แม่ลอง อยู่ตำบลหัวทุ่ง , ตำบลทุ่งแล้ง  จำนวน  50,275  ไร่
  2. ป่าแม่ลู่ – แม่แป๋น อยู่ตำบลปากกาง  ตำบลทุ่งแล้ง  ตำบลบ้านปิน  ตำบลห้วยอ้อจำนวน  84,375  ไร่
  3. ป่าแม่ลาน – แม่กาง อยู่ตำบลบ้านปิน ตำบลห้วยอ้อ  จำนวน  116,250  ไร
  4. ป่าแม่ต้าตอนขุน อยู่ตำบลเวียงต้า จำนวน  152,775  ไร่
  5. ป่าแม่ต้าฝั่งขวาตอนใต้ อยู่ตำบลต้าผามอก จำนวน  62,500  ไร่
  6. ป่าแม่ต้าฝั่งซ้าย อยู่ตำบลต้าผามอก ตำบลบ้านปิน  จำนวน  104,968  ไร่

 

การปกครอง

 การแบ่งเขตการปกครอง

ปัจจุบันอำเภอลองแบ่งเขตการปกครองออกเป็น   9  ตำบล   90   หมู่บ้าน    และ

มีองค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาลตำบล   ดังนี้

  1. เทศบาลตำบลห้วยอ้อ          มีจำนวน                  14       หมู่บ้าน(หมู่ที่  6 – 10)
  2. องค์กรบริหารส่วนตำบลหัวทุ่ง มีจำนวน              9      หมู่บ้าน
  3. เทศบาลตำบลบ้านปิน          มีจำนวน                   2        หมู่บ้าน (หมู่ที่ 4  –  5)
  4. องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านปิน มีจำนวน           10       หมู่บ้าน  (หมู่ที่ 1-3,6-12)
  5. องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งแล้ง มีจำนวน         12       หมู่บ้าน
  6. เทศบาลตำบลปากกาง           มีจำนวน                 9      หมู่บ้าน
  7. เทศบาลตำบลเวียงต้า           มีจำนวน                 10       หมู่บ้าน
  8. องค์การบริหารส่วนตำบลต้าผามอก มีจำนวน         8      หมู่บ้าน
  9.  องค์การบริหารส่วนตำบลเหล็กลอง มีจำนวน         9      หมู่บ้าน
  10. เทศบาลตำบลแม่ปาน           มีจำนวน            7      หมู่บ้าน